เมื่อ พ.ศ.2439 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้สถาปนากรมป่าไม้ขึ้น เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2439 ซึ่งมี Mr. H. Slade เป็นเจ้า กรมป่าไม้คนแรกจึงนับว่าเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่เกี่ยวกับการพัฒนากิจการด้านป่าไม้ตามลำดับ มีการเปลี่ยนแปลงสัญญาการอนุญาตทำไม้สัก การกำหนดขนาดไม้ที่จะตัดฟัน เพื่อควบคุมการทำไม้สักโดยเฉพาะ ซึ่งที่ทำการป่าไม้อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ) และได้มีการจัดตั้งสาขาระดับป่าไม้ภาคขึ้นที่ลำปาง และนครสวรรค์ และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2467 กรมป่าไม้ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นกรม ที่มีอธิบดีเป็นหัวหน้า โดยมีพระราชองค์การประกาศเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2467 ให้พระยาดรุพันพิทักษ์ เป็นอธิบดีคนแรก และปีพ.ศ.2474 ได้จัดตั้งป่าไม้ภาคยวมขึ้น (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของป่าไม้เขตแม่สะเรียง) พ.ศ.2495 โดยมีหลวงประกอบวนกิจ ดำรงตำแหน่งเป็นป่าไม้ภาคยวมคนแรก
พ.ศ.2484 กรมป่าไม้ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการโดยเปลี่ยนชื่อป่าไม้ภาคให้เป็นป่าไม้เขต โดยมีอำนาจในการควบคุมบังคับบัญชาป่าไม้ ยังป่าไม้จังหวัดและป่าไม้อำเภอ จึงทำให้ป่าไม้ภาคยวมเปลี่ยนเป็นป่าไม้เขตแม่สะเรียง และปี พ.ศ.2495 นายโพธิ์ คงชนะ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งป่าไม้เขตแม่สะเรียงเป็นคนแรก ต่อมา พ.ศ.2545 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารงานของกรมป่าไม้ขึ้นใหม่ สำนักงานป่าไม้ เขตแม่สะเรียงจึงได้เปลี่ยนเป็นสำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 17 สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และปี พ.ศ.2548 ได้มีการปรับปรุงส่วนราชการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อีกครั้งหนึ่ง โดยให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่ 17 ไปสังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง จนถึงปัจจุบันซึ่งมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ในลักษณะงานสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า งานอุทยานแห่งชาติ งานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร งานจัดการไฟป่า และงานป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ นอกจากนี้ยังสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และงานด้านกิจกรรมชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์
- ป่าต้นน้ำชั้น 1, 2, 3, 4, 5
- ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา
- เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากร
- การประสานความร่วมมือส่วนราชการรวมถึงประสานงานประเทศเพื่อนบ้าน