โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณลุ่มน้ำของ – ลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (กลุ่มบ้านมะโนรา)

โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณลุ่มน้ำของ – ลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (กลุ่มบ้านมะโนรา)

ความเป็นมา

                   กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สำรวจพบป่าเบญจพรรณที่มีไม้สักธรรมชาติ ขึ้นกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย และบางส่วนอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งขวาและป่าสงวนป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนล่าง ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่สูงตั้งแต่  ๓๐๐ – ๑,๓๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงมีหินปูน (Karts) ปะปนอยู่ และพบหลุมหินปูน (sink hole) กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ไม้สักธรรมชาติที่พบขึ้นอยู่ตลอดแนวสองฝั่งของลำน้ำของและฝั่งขวาของลำน้ำปาย ไม้สักมีลักษณะดี ขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง อัตราการเจริญเติบโตสม่ำเสมอ สภาพป่ามีความสมบูรณ์ ที่สำคัญไม้สักที่พบมีลักษณะพิเศษด้านพรรณพืชที่น่าสนใจ คือ สามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูงกว่า ๑,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งนับเป็นข้อมูลใหม่ของประเทศ  อันเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากของประเทศไทย  เนื่องจากปกติจะพบไม้สักเจริญเติบโตได้ดีในระดับความสูงไม่เกิน ๗๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล  บริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่ที่สำรวจพบป่าไม้สักที่สมบูรณ์นั้น เป็นที่ตั้งของชุมชน ๗ หมู่บ้าน มีประชากรประมาณ  ๒,๐๐๐ คน ส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าลีซอและกะเหรี่ยง ประกอบอาชีพเกษตรกรรม  ฐานะยากจน พบปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อทำการเกษตร ปัญหาลักลอบตัดไม้ทำลายป่า  ปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการทำเกษตรกรรม ปัญหายาเสพติด และปัญหาคนต่างด้าว ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีการเข้าไปบุกรุกทำลายป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์ และยังอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศในอนาคตอีกด้วย 

                   โดยความสำคัญของพื้นที่ที่สำรวจพบป่าไม้สักธรรมชาติที่สมบูรณ์และมีลักษณะพิเศษในพื้นที่นั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นแหล่งพันธุกรรมไม้สักขนาดใหญ่ในธรรมชาติและเป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากของประเทศ ประกอบกับพบว่า พื้นที่โดยรอบที่มีชุมอาศัยอยู่มีปัญหาดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นซึ่งอาจนำไปสู่การบุกรุกและลักลอบตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น  ดังนั้น จึงเห็นว่าควรมีมาตรการในการดูแลพื้นที่ดังกล่าวเป็นการเฉพาะอย่างเข้มงวด เพื่อการสงวนรักษาพื้นที่ไม้สักธรรมชาตินี้ไว้เป็นแหล่งศึกษาทดลอง วิจัย และการขยายพันธุ์ในอนาคต รวมถึงการดำรงรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศสำคัญที่หายากและมีความหลากหลายทางชีวภาพที่สมบูรณ์แห่งหนึ่ง ที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเสริมสร้างจิตสำนึกของชุมชน  ที่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วม ดำรงชีพอย่างถูกวิธีตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และมี

คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของผืนป่าสักธรรมชาติกลับคืนมา  ที่จะเอื้อประโยชน์นานัปการต่อไปในอนาคต และนำไปสู่แนวพระราชดำริ “ให้คนอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล” ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีหนังสือถึงราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อ
ขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ
ขอได้โปรดพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ดังกล่าว และขอพระราชทานชื่อป่าไม้สักที่สมบูรณ์นี้เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล ๐๐๑๐.๑/๑๒๘๓  ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ แจ้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชว่า ได้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถแล้ว ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และ
ต่อมา สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล ๐๐๐๔.๑/๑๘๑๓ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔ แจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ว่า“ ป่าสักนวมินทรราชินี”(ป่า-สัก-นะ-วะ-มิน-ทะ-ระ-รา-ชิ-นี)  นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นที่ทรงพระราชทานแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร

บริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ครอบคลุมพื้นที่กว่า ๔๙๗ ตารางกิโลเมตร โดยน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้มาดำเนินการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและพัฒนา  มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้อยู่ดีกินดี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นกำลังหลักที่จะมีส่วนร่วมในการดูแล รักษา และปกป้องป่าสักธรรมชาติที่สมบูรณ์แห่งนี้ไว้ ควบคู่ไปกับการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืนสืบไป

วัตถุประสงค์ของโครงการ 

                   ๑. เพื่อป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ ในพื้นที่ “ป่าสักนวมินทรราชินี” ไม่ให้ถูกบุกรุกทำลายโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน เสริมสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ
                   ๒. เพื่อสำรวจ ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยด้านแหล่งพันธุกรรมไม้สักและงานวิจัยด้านอื่น ๆ รวมทั้ง การจัดทำฐานข้อมูล
                   ๓. เพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ตลอดจนสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

ที่ตั้งของพื้นที่ พิกัด และอาณาเขต

                   หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ ๓ (กลุ่มบ้านมะโนรา)  ตั้งอยู่ที่พิกัดจุดที่ E= 419614, N= 2143481 (WGS84 ) เป็นพื้นที่รับผิดชอบรวมทั้งสิ้น  จำนวน  ๖๖,๑๐๑  ไร่  เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จำนวน ๕๗,๙๙๙ ไร่ เป็นพื้นที่ป่าแนวกันชนและฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ จำนวน  ๖,๕๓๕  ไร่ เป็นพื้นอยู่อาศัยและทำกิน (พัฒนาคุณภาพชีวิต) จำนวน  ๑,๕๒๗ ไร่

                   ทิศเหนือ          ติดกับ   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

                   ทิศใต้              ติดกับ   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

                   ทิศตะวันตก      ติดกับ   หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ ๑ (กลุ่มบ้านนาอ่อน) จังหวัดแม่ฮ่องสอน

                   ทิศตะวันออก     ติดกับ   เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย อ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นางสาวมาละตรีหนึ่ง สีหไกร
หัวหน้าโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักฯ หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (กลุ่มบ้านมะโนรา)