โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ห้วยช่างเหล็ก
พระราชดำริ
เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปีพุทธศักราช 2550 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงได้มีแนวคิดที่จะนำแนวพระราชดำริ ด้านการพัฒนาป่าไม้ไปขยายผล โดยมุ่งเน้นด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้มีความอุดมสมบูรณ์ เน้นการมีส่วนร่วมของราษฎรตลอดจนการสร้างจิตสำนึกด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น จากแนวคิดดังกล่าว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ทำการสำรวจพื้นที่ในท้องที่ อำเภอเมือง พบว่าพื้นมีปัญหาด้านการทำลายทรัพยากรป่าไม้ เพื่อทำไร่เลื่อนลอยเป็นบริเวณกว้าง บางพื้นที่เกิดการพังทลายของดิน ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนที่จำเป็นต้องได้รับการจัดการและฟื้นฟูโดยเร็ว จึงมีการวางแผนจัดทำโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ห้วยช่างเหล็ก จังหวัดแม่ฮ่องสอนขึ้น
วัตถุประสงค์ของโครงการ
1) เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต และรายได้ของประชาชนในพื้นที่ชนบท
2) เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แก่ประชาชน
3) เพื่อสร้างจิตสำนึกให้แก่ราษฎรในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และนำมาใช้อย่างประหยัดและหยั่งยืน
4) เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายให้กลับคืนมาโดยการปลูกป่าทดแทน และป้องกันและคุมควบไฟป่า
5) เพื่อสร้างงานให้ราษฎรในพื้นที่มีงานทำโดยมีรายได้จากการรับจ้างปลูกป่าและดูแลป่าในพื้นที่โครงการ
ข้อมูลพื้นฐาน
สถานที่ตั้งสำนักงาน บ้านห้วยช่างเหล็ก หมู่ที่ ๗ ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนพิกัด UTM 47Q 0383885 E 2117367 N แผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐๐๐๐ wgs 84 จังหวัดแม่ฮ่องสอน หมายเลขระวาง ๔๕๔๗ II มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านห้วยแก้ว
ทิศใต้ ติดต่อกับ ลำห้วยช่างคำ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป่าปุ๊
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สหภาพพม่า
อาณาเขต พื้นที่ดำเนินโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริห้วยช่างเหล็กจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีเนื้อที่ประมาณ ๒๖,๒๕๐ ไร่ อยู่ในพื้นที่ บ้านห้วยแก้วบน และบ้านห้วยช่างเหล็ก ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนล่าง ครอบคลุมลุ่มน้ำย่อยที่สำคัญ คือลุ่มน้ำย่อยห้วยช่างเหล็ก ลุ่มน้ำย่อย ห้วยตองจิง ลุ่มน้ำย่อยห้วยขี้ และบางส่วนของลุ่มน้ำย่อยห้วยปางยาง
ลักษณะภูมิประเทศ สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง สลับซับซ้อน ความสูงจากระดับน้ำทะเลเฉลี่ย ประมาณ ๖๐๐ เมตร
ลักษณะภูมิอากาศ แบบร้อนชื้น เขตศูนย์สูตร
ทรัพยากรป่าไม้ สภาพป่าเป็นป่าดิบเขา ป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ชนิดไม้เช่น ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้เหียง ไม้พลวง ไม้สัก ไม้ไผ่ ไม้แดง เป็นต้น
หมู่บ้าน/ ตำบล ในขอบเขตพื้นที่โครงการฯ คือ บ้านห้วยแก้วบน และบ้านห้วยช่างเหล็ก ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
จำนวนประชากรในพื้นที่โครงการฯ 380 คน 75 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวกระเหรี่ยงโปว์ และกระเหรี่ยงแดง
บ้านห้วยแก้วบน 43 หลังคาเรือน ประชากรชาย 95 คน หญิง 69 คน
บ้านห้วยช่างเหล็ก 32 หลังคาเรือน ประชากรชาย 96 คน หญิง 77 คน
ปีที่เริ่มจัดตั้งโครงการ พ.ศ. 2552
เป้าหมายกิจกรรมที่ดำเนินงาน
1) เพื่อดำเนินการร่วมกับราษฎรสำรวจข้อมูลพื้นฐานของชุมชน ได้แก่ ข้อมูลประชากร อาชีพ รายได้ กลุ่มหมู่บ้านเป้าหมาย ที่ตั้ง อาณาเขต จัดทำแนวเขต (Zoning) สำหรับพื้นที่อยู่อาศัย/พื้นที่ทำกิน และพื้นที่สำหรับการอนุรักษ์ระบบนิเวศต้นน้ำให้เหมาะสมการจัดการป่าไม้โดยรวม ตลอดจนสภาพความต้องการ สภาพปัญหาของชุมชน เพื่อประชุม ประชาคมหมู่บ้านให้เกิดการมีส่วนร่วมและทราบรายละเอียดของโครงการ
2) ดำเนินการฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม
3) ปลูกป่าใช้สอยในลักษณะป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
4) ส่งเสริมระบบวนเกษตร ทำแปลงทดลองสาธิต
5) จัดทำแนวป้องกันไฟป่าและเส้นทางตรวจการเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า
6) ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจและลาดตระเวนเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่าและการลักลอบตัดไม้
7) อบรม ศึกษาดูงาน และทำเวทีชาวบ้านในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่
8) จัดกิจกรรมครูป่าไม้ในโรงเรียน เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมแก่เยาวชนในพื้นที่
9) จัดกิจกรรมเพาะชำกล้าไม้ เพื่อสนับสนุนชุมชน
10) จัดทำฝายชะลอน้ำเพื่ออนุรักษ์ความชุ่มชื้นให้กับป่าและสนับสนุนระบบประปาภูเขา
11) จัดตั้งศูนย์ประสานงานโครงการเพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่อราชการและการปฏิบัติงานในพื้นที่
12) ปรับปรุงหรือจัดทำระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้สามารถใช้งานได้อย่างยั่งยืน
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1) ลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ ลดปัญหาการทำไร่หมุนเวียน เพิ่มพื้นที่ป่าไม้เกิดการทำงานอย่างบูรณาการระหว่างราษฎรในพื้นที่และเจ้าหน้าที่รัฐ
2) ระบบนิเวศวิทยาป่าไม้ของพื้นที่ได้รับการจัดการให้มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของราษฎรในพื้นที่
3) มีการจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดินของราษฎรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
4) ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
5) สามารถรักษาพื้นที่ป่าไม้ให้คงอยู่ตลอดจนปกป้องคุ้มครองดูแลพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศป่าไม้ในพื้นที่ให้มีความอุดมสมบูรณ์และยั่งยืนตลอดไปโดยความร่วมมือของราษฎรกับเจ้าหน้าที่รัฐ
6) ราษฎรในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ตระหนักและหวงแหนทรัพยากรป่าไม้
แผนที่ขอบเขตโครงการ
นายธีระกาญจน์ ไทยสะเทือน
หัวหน้าโครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริ ห้วยช่างเหล็ก