ศูนย์วิจัยป่าสักนวมินทรราชินี จังหวัดแม่ฮ่องสอน
.
พระราชดำริหรือพระราชดำรัสเพิ่มเติม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีหนังสือ ที่ ทส 0940.3/1971 ลงวันที่ 29 มกราคม 2553 นำเรียนราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ เพื่อโปรดพิจารณานำความกราบบังคมทูล เพื่อทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เพื่อขอพระราชทานโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณ ป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน และสำนักราชเลขาธิการ แจ้งว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักฯ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามหนังสือ สำนักราชเลขาธิการ ที่ รล 0010.1/1283 ลงวันที่ 18 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ความว่า ทรงรับโครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรบริเวณป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่ป่าลุ่มน้ำของ-ลุ่มน้ำปาย พื้นที่ดำเนินการ 497.2 ตารางกิโลเมตร โดยเป็นพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย 344 ตารางกิโลเมตร และในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งขวา 2.2 ตารางกิโลเมตร และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ปายฝั่งซ้ายตอนล่าง 151 ตารางกิโลเมตร และต่อมาสำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล 0004.1/1813 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 แจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาพระราชทานชื่อป่าสักที่อุดมสมบูรณ์ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี” (ป่า-สัก-นะ-วะ-มิน-ทะ-ระ-รา-ชิ-นี) นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระราชทานแก่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพสกนิกรจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ความเป็นมา
พื้นที่ลุ่มน้ำของ เป็นแม่น้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำปาย ตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จากการสำรวจพื้นที่ในเบื้องต้นพบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำของตอนล่างถึงบริเวณสบกับแม่น้ำปายและพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปายใกล้กับสบแม่น้ำของ และห้วยแม่ยาน ซึ่งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มน้ำปาย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และป่าสงวนแห่งชาติแม่ปายฝั่งขวา และฝั่งซ้ายตอนล่าง 153.2 ตารางกิโลเมตร กรมป่าไม้ เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติที่มีไม้สักขึ้นอย่างอุดมสมบูรณ์ มีไม้สักขนาดใหญ่ ลำต้นเปลาตรง และหนาแน่นจำนวนมาก ที่ฟื้นตัวจากการทำไม้ในอดีตและการลักลอบตัดไม้ในปัจจุบัน พื้นที่ป่าสักแห่งนี้เป็นป่าสักตามธรรมชาติ ที่ขึ้นต่อเนื่องเป็นผืนป่าขนาดกว้างใหญ่ ประมาณว่าน่าจะมีมากกว่า 100,000 ไร่ นอกจากนี้ยังเป็นป่าไม้สักที่ขึ้นต่อเนื่องกันจากระดับความสูง 250 – 1,200 เมตร จากระดับน้ำทะเล และบางหมู่ไม้สามารถพบได้ถึงระดับ 1,230 เมตร จากระดับน้ำทะเล จากที่เคยมีการบันทึกไว้ในประเทศไทยที่ระดับความสูง 750 เมตร จากระดับน้ำทะเล และต่างประเทศที่พม่าและอินเดีย พบที่ระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล ด้วยความสำคัญยิ่งของผืนป่าดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงรับ “ โครงการอนุรักษ์แหล่งพันธุกรรมไม้สักและพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร บริเวณป่าลุ่มน้ำของ – ลุ่มน้ำปาย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ” ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และพระราชทานชื่อป่าแห่งนี้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า “ป่าสักนวมินทรราชินี”
วัตถุประสงค์โครงการ
1) เพื่อรวบรวมข้อมูลพื้นฐานและศึกษาวิจัยในด้านต่างๆ
2) เพื่อจัดทำฐานข้อมูลสำหรับการสนับสนุนการตัดสินใจบริหารจัดการพื้นที่
3) กำหนดพื้นที่เป็นแหล่งคุ้มครองและรักษาพันธุกรรมไม้สักธรรมชาติ
คณะทำงานหรือหน่วยงานร่วมดำเนินการแบบบูรณาการ
หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 1 (บ้านห้วยซลอบ)
หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 2 (บ้านนาอ่อน)
หน่วยปฏิบัติการพื้นที่ที่ 3 (บ้านมะโนรา)
ที่ตั้ง
ที่ตั้งของพื้นที่ พิกัด และอาณาเขตศูนย์วิจัยป่าสักนวมินทรราชินี ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลห้วยผา อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดทางหลวงหมายเลข 1095 ระหว่างกิโลเมตรที่ 171-172 พิกัด 47Q 401078 E 2156074 N
นางสาวมาละตรีหนึ่ง สีหไกร
หัวหน้าศูนย์วิจัยป่าสักนวมินทรราชินี จังหวัดแม่ฮ่องสอน