เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนช่วยเหลือกวางป่าพลัดหลง

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ได้รับแจ้งจากชาวบ้านโพซอว่ามีกวางป่าได้รับบาดเจ็บจากหมาไนหรือหมาจิ้งจอก ถูกไล่ต้อนกัดจากยอดดอยห้วยถ้ำลงมาหลบภัยในน้ำห้วยแม่แงะ และบริเวณป่าสบห้วยถ้ำใต้หมู่บ้านโพซอ ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปตรวจสอบพบว่าเป็นกวางป่าเพศเมีย (Cervus unicolor) กำลังอยู่ในอาการตื่นกลัวและหมดแรงหนี จึงได้ทำการช่วยเหลือนำมาดูแลที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ต.บ้านกาศ อ.แม่สะเรียง และได้ประสานกับเจ้าหน้าที่สัตวบาลของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า เพื่อเข้ามาทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

            วันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2565 เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ร่วมกับเจ้าหน้าที่สัตวบาลของส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ได้นำกวางป่าตัวดังกล่าวที่มีอาการดีขึ้นฟื้นสภาพกลับมามีเรี่ยวแรงใกล้ปกติ จึงร่วมกันตัดสินใจนำไปปล่อยคืนสู่ป่าธรรมชาติ ที่บริเวณป่าห้วยวาโลโกลใต้หมู่บ้านโพซอเพื่อง่ายต่อการเข้าฝูงเดิม เพราะบริเวณนี้เคยมีชาวบ้านพบเห็นกวางป่า จำนวน 4-5 ตัว

            กวางป่า Sambar deer มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cervus unicolor เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกตีนกีบ มีชื่อพื้นเมืองของประเทศอินเดียว่า “กวางม้า” เนื่องจากมีขนาดไล่เลี่ยกับม้า อาศัยอยู่ได้ทั้งในป่าทึบ ป่าโปร่ง และชายป่าละเมาะที่มีทุ่งหญ้าสลับกันไป หากินในเวลากลางคืน มักพบหากินเดี่ยว ๆ หรืออยู่รวมกันเป็นฝูง มักตื่นตัวและระมัดระวังภัยตลอดเวลา มีประสาทสัมผัสที่ว่องไว หูสามารถได้ยินเสียงต่างๆได้ดี จมูกดมกลิ่นได้ดี          

นายยิ่งยศ ทิโน ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง ผู้รายงาน